ไม่ได้มีแต่นกเพนกวินเท่านั้นที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศ พร้อมกับรับเลี้ยงลูกนกเพนกวินด้วยกันตามที่เคยมีข่าวรายงานจากสวนสัตว์แห่งหนึ่งในเยอรมันนี พฤติกรรมรักร่วมเพศนี้ยังพบในสัตว์อีกหลายชนิด ดึงดูดความสนใจให้นักชีวะวิทยาสองคนคือ Marlene Zuk และ Nathan Bailey จาก University of California Riverside ทำการศึกษาวิจัยและตีพิมพ์ผลงานออกมา
ประเด็นของการศึกษาดังกล่าวอยู่ที่ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศนี้เป็นปัจจัยหนึ่งในขั้นตอนการวิวัฒนาการหรือไม่ Zuk และ Bailey ได้ทำการศึกษาสัตว์จำนวนหนึ่งเพื่อที่จะตอบคำถามนี้
ในงานวิจัยอื่นๆ ก็มีการพบตัวอย่างพฤติกรรมรักร่วมเพศเช่นกัน ในปี 2005 Hans Van Gossum จากมหาวิทยาลัย Antwerp ใน Belgium พบว่าแมลงปอเข็มเพศผู้มีแรงดึงดูดกับเพศเดียวกันมากกว่าเพศเมีย
แกะเขาใหญ่เพศผู้ก็ชอบที่จะจับคู่กับเพศผู้ด้วยกัน ส่วนนกเลย์ซานอัลบาทรอสเพศเมียก็ยังอยู่กันเป็นคู่ๆ พร้อมเลี้ยงลูกๆ ให้โตไปด้วยกันอีกด้วย
การจับคู่เพศเดียวกัน แน่นอนว่าเป็นการลดอัตราการสืบพันธ์ของสายพันธ์ตัวเอง แต่มันเกิดขึ้นได้อย่างไร มันส่งผลให้อัตราการอยู่รอดเพิ่มมาขึ้นหรือเปล่า นักชีวะวิทยาจะต้องตอบคำถามเหล่านี้
ในปี 2008 Sara Lewis จาก Tufts University ใน Medford, Massachusetts และคณะทำการตอบคำถามนี้ด้วยการวิจัยมอด โดยปกติแล้วมอดเพศเมียจะรู้สึกถึงแรงดึงดูดจากมอดเพศผู้จากการหลั่งฮอร์โมน แต่ฮอร์โมนดังกล่าวนี้กลับดึงดูดมอดเพศผู้ด้วยกันเองและมีการพยายามที่จะสืบพันธ์เกิดขึ้น ซึ่งต่อมาพบว่าการกระทำดังกล่าวเป็นเหมือนกับการสืบพันธ์ทางอ้อม เมื่อมอดตัวผู้ที่มีน้ำเชื้อของตัวผู้ตัวอื่นไปผสมพันธ์กับตัวเมีย น้ำเชื้อตัวผู้ตัวอื่นก็ผสมเข้าไปในมอดเพศเมียด้วยเช่นกัน
Zuk และ Bailey ได้เสนอไอเดียพฤติกรรมร่วมเพศนี้ออกเป็นสองสมมติฐานคือ
สมมติฐานด้านการปรับตัว
เพื่อเพิ่มความแข็งแรงให้กับเผ่าพันธุ์ตัวเอง เช่น ปลาโลมาหัวขวดที่มีพฤติกรรมรักร่วมเพศเพื่อที่จะเพิ่มความแข็งแรงของพันธะในสังคม การสืบพันธ์ทางอ้อมดังที่กล่าวไปแล้วในมอด และการเพิ่มทักษะการสืบพันธ์ในแมลงวันทอง (คือฝึกกับเพศเดียวกันก่อนที่จะฝึกกับเพศตรงข้าม)
สมมติฐานอื่นๆ นอกเหนือไปจากนี้
ก็เกิดจากการไม่สามารถแยกแยะลักษณะทางเพศว่าเพศไหนเป็นเพศเดียวกัน หรือต่างเพศได้ รวมไปถึงพฤติกรรมที่เรียกว่า นักโทษเอฟเฟ็ก (prisoner effect เปรียบเหมือนพฤติกรรมของนักโทษในคน ที่มีการรักร่วมเพศเกิดขึ้น) พบใน แมลงปอเข็ม การขาดเพศเมียจะทำให้แมลงปอเข็มเพศผู้มีพฤติกรรมการสืบพันธ์ในเพศเดียวกันเอง นอกจากนี้ยังมีการพบว่าสิ่งมีชีวิตที่มีการตอบสนองพฤติกรรมทางเพศสูงและสิ่งมีชีวิตที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสมจะมีพฤติกรรมรักร่วมเพศตามมาด้วย
แม้ว่าสมมติฐานต่างๆ เหล่านี้ยังไม่มีการวิจัยเพิ่มเติม แต่ก็เพียงพอให้ Zuk และ Bailey สรุปได้ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศมีจุดกำเนิดที่แตกต่างกัน และแม้ในขณะนี้จะยังไม่มีผลงานวิจัยผลลัพธ์ที่ตามมาจากพฤติกรรมรักร่วมเพศแต่ Bailey ก็พบว่าเรื่องนี้เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับการศึกษาวิจัยด้านพฤติกรรมศาสตร์
ในการศึกษาตั๊กแตนทะเลทราย ในบางครั้งตั๊กแตนเพศผู้มีแรงดึงดูดกับตัวผู้ตัวอื่นๆ และทำให้ถึงกับผลาดการสืบพันธ์กับเพศเมียและเลยไปถึงงดการออกหาอาหาร อย่างไรก็ตามเพศผู้มีการป้องกันการเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวด้วยการปล่อยฟีโรโมนที่เรียกว่า phynylacetonitrile เพื่อป้องกันพฤติกรรมรักร่วมเพศนี้
สัตว์อีกชนิดหนึ่งที่มีการศึกษาคือคางคก ซึ่งตัวผู้จะต้องใช้ขาบีบให้ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาเพื่อที่จะผสมกับน้ำเชื้อของตัวเอง แต่ปรากฏว่าก็มีการจับคู่กันระหว่างตัวผู้เกิดขึ้น จนตัวผู้ที่โดนจับคู่ไปนี้จะต้องมีการส่งเสียงออกมาเพื่อให้ทราบกันว่าตัวมันเองนั้นไม่ใช่ตัวเมียแต่อย่างใด
นกเลย์ซานอัลบาทรอสบนเกาะแห่งหนึ่งในฮาวาย เพศเมียมีการจับคู่กันเองถึง 30 เปอร์เซ็นต์ มากกว่านกชนิดอื่นๆ การศึกษาพบว่านกเพศเมียดังกล่าวมีความพึงพอใจในการอยู่ด้วยกัน และในบางครั้งยังมีเพศสัมพันธ์กันอีกด้วย รวมไปถึงการเลี้ยงดูลูกนกด้วยกัน ซึ่งเพิ่มเปอร์เซนต์การอยู่รอดของลูกนอกและเปิดโอกาศให้ตัวผู้สามารถไปผสมพันธ์กับนกตัวอื่นเพิ่มจำนวนลูกหลานได้อีกด้วย
ไม่ว่าพฤติกรรมรักร่วมเพศนี้จะเป็นปัจจัยสำคัญในกระบวนการวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิตหรือไม่ การยอมรับมีอยู่ของพฤติกรรมดังกล่าวในสิ่งมีชีวิตหลายๆ ชนิด รวมไปถึงมนุษย์ ก็จะช่วยให้เรามีความเข้าใจในพฤติกรรมการสืบพันธ์มากขึ้น เกิดการเปรียบเทียบพฤติกรรมดังกล่าวในสัตว์หลายๆ สายพันธ์ และที่ท้าทายไปกว่านั้นเราก็คงจะสามารถเข้าใจผลลัพธ์ของวิวัฒนาการพฤติกรรมรักร่วมเพศในสัตว์หรือแม้กระทั่งในมนุษย์เอง Bailey กล่าว
ที่มา/source: http://www.newscientist.com/article/mg20427370.800-homosexual-selection-the-power-of-samesex-liaisons.html?full=true&print=true
ท่านสามารถชมภาพสัตว์ชนิดอื่นๆ ที่เกี่ยวกับบทความนี้ได้ที่: http://www.newscientist.com/gallery/homosexual-selection
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น